มาดู Droplets ของ DigitalOcean กัน

Droplet หรือ Cloud Server ที่ใคร ๆ ก็สามารถมี Server เป็นของตัวเองได้ ง่าย ๆ เพียงไม่กี่คลิก ขอแค่เข้าใจ และลงมือทำ

สวัสดีครับ วันนี้เราจะมาดู Droplets ของ DigitalOcean กัน ว่ามีอะไรบ้าง ยังไงก็ไปดูกันเลย

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า Droplets คืออะไร และ DigitalOcean คืออะไร สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่

สำหรับใครรู้จักแล้วเรามาเริ่มทำกันเลย

เริ่มต้น หลังจาก Login มาแล้ว เราคลิกที่ Create แล้วเลือก Droplets ได้เลย สำหรับใครที่ยังไม่มี Account หรือยังไม่สมัคร สามารถคลิกที่ https://m.do.co/c/0b253442f9b2 เป็นโปรแกรมเชิญชวน รับเครดิตการใช้งานของทาง DigitalOcean ฟรี 200$ เป็นเวลา 60 วัน เข้าใจว่าต้องผูกบัตรเครดิตก่อนนะถึงจะได้สิทธิ์ ส่วนใครไม่อยากใช้สิทธิ์ก็สามารถเข้ามาที่นี่ เป็นเว็บหลักของเค้า

DigitalOcean Create Droplets Menu

เมื่อเข้ามาส่วนนี้ มันจะมีให้เราเลือกเยอะมาก ขออธิบายเป็นส่วน ๆ

Datacenter หรือก็คือจุดที่เค้าวางระบบ Cloud นั่นแหละ แนะนำว่าให้เลือกที่ใกล้เราที่สุด หรือเลือกที่ที่เราจะนำ Web หรือ App เราไปวางไว้ให้คนใช้ ในที่นี้เลือก Singapore

DigitalOcean Create Droplets Datacenter

VPC Network เป็นส่วนของเครือข่ายภายใน ไว้สำหรับเชื่อมต่อทรัพยากรเครื่องเข้าหากัน ไม่แน่ใจว่าสำหรับคนที่สร้างใหม่จะมีส่วนนี้หรือเปล่า เพราะบางทีในช่วงแรกมันมีค่าเริ่มต้นให้ แต่ของผู้เขียนเหมือนเคยสร้างทิ้งไว้ เลยเลือกเป็นอันเริ่มต้นไป

DigitalOcean Create Droplets VPC Network

Choose an image เป็นการเลือก Image ที่ให้บริการ โดย Image ก็คือคำเรียกหรือนามสกุลไฟล์ไฟล์หนึ่งที่เกิดขึ้นมาไว้สำหรับการจำลองระบบปฎิบัติการบนเครื่อง VM (Virtual Machine) แต่ข้างใน Image ไม่จำเป็นต้องมีระบบปฎิบัติการอย่างเดียวเท่านั้น สามารถมีอย่างอื่นก็ได้ เช่น มี Ubuntu กับ Nginx อยู่ใน Image เดียวกันได้ แต่ทุก Image จะต้องมีระบบปฎิบัติการ ไม่ว่าจะเป็น Linux, Windows คือต้องมี ในทีนี้เราจะเลือกเป็น Ubuntu โดยทาง DigitalOcean จะแบ่งออกเป็น 4 อย่างด้วยกันคือ

  • OS คือ ระบบปฎิบัติ เช่น Ubuntu, Fedora, Debian, CentOS, AlmaLinux, Rocky Linux สามารถเลือก Version ได้ด้วยนะ โดยทาง DigitalOcean จะมีให้เฉพาะ Linux เท่านั้น ไม่งั้นต้องเลือกเป็น Custom images แล้วหา Linux ที่เราต้องการมาลงเอง
  • Marketplace คือ ของแถมหรือสิ่งที่รวมอยู่ด้วยใน OS ตามที่เราเลือก เช่น เราเลือก WordPress มันก็จะมี Ubuntu กับ WordPress มาด้วย จริง ๆ มันมีเยอะกว่านี้นะ อันนี้แค่คร่าว ๆ โดยเราสามารถดูได้ว่ามี Marketplace อันไหนให้ใช้บ้างได้ที่นี่
  • Snapshots คือ การเซฟการทำงานของ Image ที่เราติดตั้ง จะอธิบายอีกทีในส่วนของรายละเอียดของ Droplet
  • Backups คือ การสำรองข้อมูล โดยจะต่างกับ Snapshots ตรงที่ Backups จะทำการสำรองข้อมูลที่ 4 สัปดาห์ ถ้าเกินจากนั้นจะลบทิ้ง และจะ Backups อาทิตย์ละครั้ง 1 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะสร้าง Image Backup มา 1 Image โดยที่เราสามารถเอา Image นี้ไปใส่ Droplets แล้วออกมาเป็น Image ที่เรา Backups ไว้เลย
  • Custom images คือ การเพิ่ม Image นอกเหนือจากที่ให้ใส่เข้าไป

ในทีนี้ขอเลือกเป็น Ubuntu ละกัน

DigitalOcean Create Droplets Choose an image

Choose Size ส่วนนี้เป็นการเลือกขนาดของเครื่องเซิฟเวอร์ จะมีให้เลือก

  • Shared CPU คือ การแชร์ CPU ร่วมกัน สำหรับคนที่ต้องการ Cloud ที่ราคาถูก เข้าถึงได้ มีเซิฟเวอร์ใช้งานพื้นฐานได้โอเค แบบนี้ตอบโจทย์
  • Dedicated CPU คือ CPU ของเครื่องตัวเอง ไม่แย่งกับใคร สำหรับคนที่ต้องการความแรง ความปลอดภัยขั้นสุด และความเป็นส่วนตัว แบบนี้ตอบโจทย์

ในที่นี้ขอเลือกเป็น Shared CPU และเลือก Premium AMD เลือกเป็น 7$/month จะได้สเปค RAM 1GB, 1 CPU AMD, 25GB NVMe SSDs, Bandwidth 1 TB

DigitalOcean Create Droplets Choose Size

Additional Storage ส่วนนี้เราสามารถเพิ่มพื้นที่จัดเก็บของเครื่องได้ โดยเค้าจะเรียกว่า Volume จะเพิ่มก็ได้หรือเพิ่มทีหลังก็ได้ ในขั้นตอนนี้เราไม่เพิ่ม

DigitalOcean Create Droplets Additional Storage

Choose Authentication Method เป็นการเข้ารหัสเพื่อเข้าใช้งาน Droplets โดยจะมีให้เลือก 2 วิธีคือ

  • SSH Key เป็นการใช้ Private Key กับ Public Key หรือเรียกว่า RSA ในการเข้าใช้งาน Droplet
  • Password เป็นการใส่รหัสผ่านตอนเข้าใช้งาน Droplet
DigitalOcean Create Droplets Choose Authentication Method

ส่วนนี้แนะนำเลยให้ใช้เป็น SSH Key เพื่อความปลอดภัย เพราะถ้าใครไม่มี Key จะไม่สามารถเข้าใช้งานได้เลย แต่ถ้าเราไปใช้แบบ Password มีโอกาสที่จะโดน Brute force หรือเดา Password มาได้ SSH Key สามารถไปที่หน้า Settings ไปที่แท๊บ Security คลิก Add SSH Key จะขึ้นหน้าต่างดังรูป สามารถทำวิธีตามด้านขวาได้เลย สำหรับใครที่ต้องการดูข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่นี่

DigitalOcean Create Droplets New SSH Key

We recommend these options เป็นเหมือนออฟชั่นเสริม คือ จะมีก็ได้หรือไม่มีก็ได้ สามารถเพิ่มทีหลังได้ ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

  • Add improved metrics monitoring and alerting (free) เป็นระบบ Monitor การแจ้งผลการทำงานของเครื่องต่าง ๆ ใช้งานฟรี ค่าเริ่มต้นจะมีให้ใช้อยู่แล้ว
  • Going to production? Enable backups (+$1.40) เป็นระบบ Backup พร้อมกับราคาที่คำนวณทั้งเดือน คือ 20% ของราคา Droplets ต่อเดือน ส่วนนี้ขอไม่เปิดละกัน แต่มีตัวอย่างให้ดูว่าเป็นอย่างไร
  • Add a worry-free Managed Database (+$15.00) เป็นการเพิ่มฐานข้อมูล เราไม่ใช้อยู่แล้ว ก็ข้ามไป
  • Enable IPv6 (free) เป็นการเปิด IPv6 ใช้งานฟรี ส่วนนี้ขอยังไม่เปิดใช้งานละกัน
  • Add Initialization scripts (free) เป็นส่วนของการแทรกสคริปการทำงานตอนบูต Droplet ขึ้นมา ส่วนนี้ไม่เคยใช้งาน ขอข้ามไปก่อน
DigitalOcean Create Droplets We recommend these options

Finalize Details เป็นรายละเอียดส่วนสุดท้ายก่อนสร้าง จะมีดังนี้

  • Quantity คือ จำนวนของ Droplets ที่เราต้องการสร้าง เราจะเอากี่ตัวก็เลือกเลย ในทีนี้ขอเลือก 1 ตัว
  • Hostname คือ ชื่อเครื่อง Droplets เรา แล้วแต่เราเลยว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร เราจะเห็นชื่อนี้ตอนเรากำหนดค่าต่าง ๆ รวมถึง SSH เข้าไปก็จะเห็นชื่อนี้ด้วย ในที่นี้ตั้งว่า tichakydiary
  • Tags คือ ป้ายหรือก็คือแท็กนั่นแหละ เอาไว้สำหรับแบ่งหมวด แบ่งประเภทต่าง ๆ ตามที่เรากำหนด ถ้ายังไม่รู้ว่าจะตั้งอะไรก็เว้นไว้ก่อน
  • Project คือ โครงการ โดยทาง DigitalOcean สามารถตั้ง Project ได้ โดย 1 Account มีได้หลายโปรเจค ในทีนี้ขอใส่ในโปรเจค Tutorial ที่สร้างไว้แล้ว
DigitalOcean Create Droplets Finalize Details

เมื่อเสร็จแล้วก็คลิก Create Droplet ได้เลย

DigitalOcean Create Droplets Click Create Droplet

รอสักครู่ ลอง Refresh ดูก็ได้ เสร็จแล้วมันจะได้ Droplet ตามชื่อที่เราตั้งแต่ได้ไอพีมา เราก็คลิกเข้าไปดูเลย

DigitalOcean Create Droplets Loading

เมื่อเข้ามาแล้วด้านบนจะเป็นส่วนของรายละเอียดของ Droplet ที่เราสร้าง จะมี Spec มาให้และมีข้อมูลให้เริ่มต้นดังนี้

  • ipv4 เป็น IP ของเครื่องเรา สามารถ SSH, เข้าเว็บ, เข้าใช้งานเครื่องเราก็จะใช้ IP นี้แหละ ขึ้นอยู่กับ Port ที่เปิดใช้งานกับการตั้งค่า แต่บอกก่อนว่า IP ที่เค้าให้มานี้ไม่ใช่ Fixed IP หรือ IP คงที่ที่อยู่ตลอด เพราะถ้าเราสั่ง Restart Droplet เมื่อไร IP ตรงนี้จะเปลี่ยน ถ้าเราจะทำเป็นเว็บที่เป็น Public หรือให้คนอื่นใช้ ให้ใช้เป็น Floating IP หรือเรียกอีกชื่อว่า Reserved IPs มันจะเป็น IP แบบลอยตัวที่เอามาผูกกับ Droplet อีกทีหนึ่ง เพราะถ้าเราไปใช้ ipv4 public เลย ถ้าเราไม่ปิด Port 22 หรือตั้งค่าไว้ไม่ดีพอ มีโอกาสที่จะถูกโจมตีสูงมาก สามารถเข้าไปดูรายละเอียดของ Floating IP หรือ Reserved IPs ได้ที่นี่
  • ipv6 เป็น IP ของเครื่องเรานั่นแหละ แต่เป็น ipv6 คือมันจะรองรับ Address ได้ทั้งหมด 128 bit จากเดิมที่ 32 bit ส่วนตัวไม่เคยเพราะเวลาจะรีโมทเข้าไปมันจำไอพีไม่ได้ ไม่งั้นต้องจดไว้ และมันยังไม่จำขนาดนั้น ยิ่งถ้าใช้ภายในองค์กรคนไม่ได้เยอะขนาดนั้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้งาน
  • Private IP เป็น IP ที่ใช้วิ่งเฉพาะใน VPS ข้างในเท่านั้น มันมีประโยชน์ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือทำงานภายใน โดยมันจะไม่คิด Bandwidth ส่วนตัวยังไม่ได้ใช้งานมากพอสมควรเพราะจำนวน Droplet ไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่คิดว่ามีประโยชน์
  • Reserved IP กล่าวข้างบนไว้แล้ว เป็น IP แบบลอยตัว คือเราต้องไปสร้าง Floating IP มาก่อน แล้วเอามาผูกกับ Droplet มันก็จะได้เป็น Reserved IP ขึ้นมา
  • Console เป็น Command Line ที่เราสามารถ Remote หรือ SSH เข้าไปใน Droplet ของเรานั่นแหละ แต่มันจะช้า แนะนำว่าให้ทำผ่าน Command Line เครื่องเราเองดีกว่า
DigitalOcean Detail Droplet Intro

ข้างล่างจะมีแถบให้เลือกมากมาย แต่เริ่มต้นเข้ามาจะอยู่ที่แท็บ Graph

Graph จะเห็น Monitor ต่าง ๆ โดยเราสามารถดูเป็น Timeframe ว่าจะดูเป็นอะไร เช่น 1 hour, 6 hours, 24 hours, 7 days, 14 days ยังมี CPU, Load, Memory, Disk I/O, Disk Usage, Bandwidth (ถ้าเราไปใช้ Marketplace บางอันมันจะขึ้นไม่ครบ) มันมีประโยชน์มากกับตอนที่ Droplet เรามีการโหลดข้อมูลสูง ๆ หรือทดสอบอยู่แล้วมันเกิดปัญหา CPU เต็ม หรือ Memory เต็ม เราก็สามารถเพิ่ม หรือแก้ไขได้ทัน

DigitalOceean Detail Droplet Graph Menu

Access เป็นส่วนของการเข้าถึง Droplet ของเรา จะมี

  • Droplet Console เป็นส่วนของ Log in เข้า Droplet ด้วย User อะไรก็ได้แล้วแต่เรา เริ่มต้นเราจะมี root account เท่านั้น ถ้าเราต้องการสร้าง user สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
  • Recovery Console เป็นการกู้คืนหน้า Command Line หรือ Console ขึ้นมา จะเกิดขึ้นกรณีที่เราเกิดไปตั้งค่าผิดพลาด เช่น ไปปิด Port 22 หรือไปตั้ง UFW ผิดพลาด ก็อาจต้องแก้ด้วยวิธีนี้
  • Reset root password เป็นการรีเซ็ตพาสเวิร์ดของ root หรือ Account เริ่มต้น โดยมันจะทำการ Shutdow Droplet เรา แล้วเปิดขึ้นมาใหม่พร้อมกับรหัส root ใหม่ ที่ส่งไปทาง Email (ถ้าใครตั้งเป็น SSH Key ไว้ไม่แน่ใจว่ามันจะเปลี่ยนให้เป็นวิธีกรอก Password แทนรึเปล่า)

ส่วนตัวแล้วไม่เคยใช้เมนูนี้เลย เพราะมันอันตรายพอสมควรเลย มันไปยุ่งกับ root ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเข้ามาก็ได้ แต่ถ้าเกิดลืมจริง ๆ ก็ไม่มีปัญหา ส่วนตัวแล้วเวลามีปัญหาจะใช้วิธีการ Destroy Droplet ทิ้งแล้วสร้างใหม่เลย แต่เพราะเป็นงานเล็ก ๆ ด้วยถึงทำได้ ถ้าเป็นงานที่ทำมานานแล้วหรือมัน Config เยอะ ก็ลองใช้ดู เป็นตัวเลือกสุดท้ายก่อนทำการ Destroy

DigitalOcean Detail Droplet Access Menu

Power เป็นเมนูเกี่ยวกับการเปิดปิดเครื่องเวลามีปัญหา

  • Turn off Droplet เป็นการปิดใช้งาน Droplet โดยที่ Data, IP, CPU, RAM จะถูกจองไว้ แปลว่า เราเปิดมาใหม่ก็จะได้ค่าเดิมทุกอย่าง ต้องบอกว่าส่วนนี้ถ้าไปสั่ง Turn off มันจะยังเก็บตังอยู่นะ เพราะฉะนั้นเราปิดไว้ก็เสียเงินอยู่ดี แนะนำว่า Snapshot ไว้ยังเสียตังน้อยกว่า ไม่ก็ Destroy ไปเลยจบ
  • Power cycle เป็นการสั่ง Restart เครื่อง กรณีที่เราพิมพ์คำสั่ง Restart แล้วไม่ทำงาน
DigitalOcean Detail Droplet Power Menu

Volumes เป็นส่วนของพื้นที่จัดเก็บของ Droplet ของเรา สามารถเพิ่มทีหลังได้ ส่วนตัวยังไม่เคยใช้ฟีเจอร์นี้เลย ยังไงถ้ามีโอกาสได้ใช้งานจริงจังจะมาเขียนเพิ่มให้

DigitalOcean Detail Droplet Volumes Menu

Resize เป็นการปรับขนาด Droplet ซึ่งการปรับขนาดจะต้อง Shutdown หรือ Turn off Droplet ของเราก่อนถึงจะปรับขนาดได้

DigitalOcean Detail Droplet Resize Menu

Networking เป็นเครือข่ายของ Droplet จะแบ่งเป็น

  • Public Network คือ เครือข่ายที่เข้าถึงได้จากภายนอก
  • Private Network คือ เครือข่ายที่เข้าถึงได้เฉพาะภายใน
  • Firewalls คือ ระบบป้องกัน เดี๋ยวจะอธิบายในบทความต่อ ๆ ไปเพราะเดี๋ยวจะยาว

ส่วนตัวแล้วแนะนำว่า Public Network อย่าลืมตั้ง Reserved IP ไว้ด้วยนะ เพื่อความปลอดภัย และเวลาเราสร้าง Droplet ใหม่ จะได้จับคู่กันง่าย ๆ (การสร้าง Reserved IP แล้วไม่ผูกกับ Droplet ทำให้เสียเงินเดือนละ 5$ ด้วยนะ เนื่องด้วยปัญหาขาดแคลน IPv4 ยังไงแนะนำว่าให้ผูกกับ Droplet อะไรก็ได้ไว้ก่อน แล้วไปตั้ง Firewall เปิดเฉพาะ Port ที่เราต้องการก็ได้ ไม่ก็ลบ Reserved IP ไปเลย ค่อยมาสร้างใหม่ทีหลัง แต่ข้อเสียคือจะไม่ได้ IP เดิม และต้องตั้งค่า DNS ใหม่)

DigitalOcean Detail Droplet Network Menu

Backups เป็นการสำรองข้อมูล Droplet ทั้งลูก โดยราคาจะคิดเป็น 20% ของ Droplet ที่เราสร้าง โดยรายละเอียดตามรูปเลย เป็นค่าเริ่มต้น คือ สำรองข้อมูลอันใหม่สูงสุด 4 อาทิตย์ ถ้าจะ Backups มากกว่านั้น ต้องเอาข้อมูล Backups อันเก่าไปแปลงเป็น Snapshots เก็บไว้ โดยที่เราสามารถเปิด/ปิด Backups ได้ตลอดเวลา การ Backups จะเริ่มในวันศุกร์ 19:00 น – วันเสาร์ 18:00 น

ส่วนตัวมองว่าถ้าผู้ใช้งานสามารถ Backup ข้อมูลแบบเฉพาะทางไว้น่าจะดีกว่า เช่น ถ้า Backup เฉพาะ MySQL ได้ ก็แนะนำว่าทำสคริปแล้ว Backup ไว้ดีกว่า เพราะสามารถ Backup ได้ละเอียดกว่านี้มาก แต่ถ้าใน Droplet เรามีหลายงาน หลายโปรแกรมที่ไม่สามารถ Backup เป็นสคริปได้ แบบนี้ก็ตอบโจทย์เช่นกัน ไม่งั้นมีอีกวิธีคือเราต้อง Snapshots บ่อย ๆ เดี๋ยวจะพูดถึงในย่อหน้าถัดไป

DigitalOcean Detail Droplet Backups Menu

Snapshots เป็นการเซฟการทำงานของ Droplet สามารถใช้ทำ Backups แบบกำหนดเองก็ได้ โดยข้อแตกต่างระหว่าง Backups กับ Snapshots คือเรื่องของการใช้งาน Backups นั้นจะทำตามตารางงานที่ทาง DigitalOcean ตั้งไว้ และทำได้ 4 อาทิตย์สูงสุด แต่ถ้าเป็น Snapshots มันสามารถทำได้เรื่อย ๆ และสามารถเอา Backups มาแปลงเป็น Snapshots แล้วเอาไปใส่ Droplet ได้ด้วย สำหรับประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือการเซฟการทำงาน คือ สมมติเราลง Ubuntu ไปแล้วเราติดตั้ง Nginx Config เรียบร้อยหมดแล้ว ปรากฎว่าเราอยากได้เซิฟเวอร์อีกเครื่องหนึ่ง ทำแบบเดิมเลย ถ้าไม่มี Snapshots คือเราก็ต้องมาสร้าง Droplets เลือก Ubuntu ใหม่ แล้วสร้างใหม่ ลง Nginx แล้ว Config ใหม่ แต่ถ้าใช้ Snapshots ตอนสร้าง Droplets ก็เลือก Image เป็น Snapshots ที่เราสร้าง ผลลัพธ์ก็คือเราจะได้ Ubuntu, Nginx ที่ Config แบบเดิมมาโดยที่ไม่ต้องมานั่งทำใหม่ตั้งแต่แรกเลย (การทำ Snapshots มีราคาอยู่ที่ 0.06 $/month ต่อ GB ต่อ 1 Droplets ด้วย และเวลา Snapshot แล้วมาสร้างใหม่มันไม่สามารถเลือก Droplets ในราคาที่ต่ำกว่า Droplets ที่เรา Snapshot ได้ เช่น สมมติว่า Droplets ที่เราสร้างเป็น 24$/month เรา snapshot แล้วไปใช้ Droplets ที่สเปคต่ำกว่านั้นไม่ได้ ต้องเป็นอันที่เท่ากันหรือสูงกว่าเท่านั้น)

DigitalOcean Detail Droplet Snapshots Menu

Kernel เป็นส่วนของใจกลางหลัก ๆ ของ OS ก็ว่าได้ ในที่นี้เราต้องไปตั้งค่าภายใน Droplet แทน สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่

DigitalOcean Detail Droplet Kernel Menu

History เป็นประวัติหรือการกระทำต่าง ๆ บน Droplet

DigitalOcean Detail Droplet History Menu

Destroy เป็นการทำลายหรือลบ Droplet จะแบ่งเป็น

  • Destroy Droplet เป็นการทำลาย Droplet
  • Rebuild Droplet เป็นการทำลาย Droplet แล้วสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้ Environment พื้นฐานเป็นแบบเดิม เช่น ipv4, ipv6, private ip, Reserved IP เป็นต้น การ Rebuild นั้นทำได้เฉพาะบาง Image ที่ทาง DigitalOcean ซัพพอร์ตเท่านั้น
DigitalOcean Detail Droplet Destroy Menu

Tags เป็นป้ายหรือก็คือแท็กนั่นแหละ เอาไว้สำหรับแบ่งหมวด แบ่งประเภทต่าง ๆ ตามที่เรากำหนด โดยมันสามารถประยุกต์ได้หลายอย่าง เช่น การจัดกลุ่ม Droplet เป็นหมวด ๆ หรือประเภท แล้วเวลาเราตั้งค่าอื่น ๆ เช่น Firewall (ใน DigitalOcean เท่านั้นนะ) เราสามารถเลือก Tags ว่า ให้ Tags นี้ใช้ Firewall นี้ มันจะทำให้ Droplets ที่อยู่ใน Tags นั้น ๆ อยู่ใน Firewall ที่เราตั้งไปด้วย

DigitalOcean Detail Droplet Tags Menu

Recovery เป็นการกู้คืน ส่วนนี้ไม่เคยใช้เลย แต่เข้าใจว่าเป็นการซ่อมแซม ISO หรือ Image ที่มีปัญหาได้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

DigitalOcean Detail Droplet Recovery

จบไปแล้วกับการดู Droplets ของ DigitalOcean กัน เป็นไงกันบ้างครับ หวังว่าจะรุ้จักมากขึ้น จริง ๆ มันยังมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยนะ ไว้จะมาเขียนบทความ ขยายความไปเรื่อย ๆ ว่ามันทำอะไรได้บ้าง

สำหรับบทความนี้ก็พอแค่นี้ก่อนละกันครับ หากมีคำถามหรือข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ทาง Email หรือทาง Social ที่ทางเว็บมีให้ครับ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

ช่องทางการติดต่อ

Email: [email protected]

Website: https://blog.tichaky.com/

Facebook: https://www.facebook.com/tichaky

Youtube: https://www.youtube.com/@tichaky_diary

Post navigation

เชื่อมต่อ Twilio SMS เข้ากับ Logto

รีวิว JetAdmin ตัวช่วยที่ไม่ต้องเขียนโค้ด

วิธีการติดตั้ง Outline VPN บน DigitalOcean

ทำ VPN ใช้เองด้วย Outline VPN